ประวัติประชาธิปไตย

ยุคโบราณ

558000007859203

คำว่า ประชาธิปไตย ปรากฏขึ้นครั้งแรกในแนวคิดทางการเมืองและทางปรัชญาในกรีซโบราณ ปราชณ์เพลโตเปรียบเทียบประชาธิปไตยซึ่งเขาเรียกว่าเป็น “การปกครองโดยผู้ถูกปกครอง” ว่าเป็นรูปแบบทางเลือกสำหรับระบอบราชาธิปไตย คณาธิปไตยและเศรษฐยาธิปไตย แม้ถือว่า ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยทางตรง แต่เดิมประชาธิปไตยแบบเอเธนส์มีลักษณะเด่นอยู่สองประการ คือ มีการคัดเลือกพลเมืองธรรมดาจำนวนมากเข้าสู่ระบบราชการและศาล และมีการชุมนุมของพลเมืองทุกชนชั้น

พลเมืองทุกคนมีสิทธิอภิปรายและลงมติในสภาซึ่งเป็นที่ออกกฎหมายของนครรัฐ ทว่า ความเป็นพลเมืองเอเธนส์นั้นรวมเฉพาะชายทุกคนซึ่งเกิดจากบิดาที่เป็นพลเมือง และผู้ที่กำลัง “รับราชการทหาร” ระหว่างอายุ 18-20 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่รวมผู้หญิง ทาส คนต่างชาติ และชายอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ จากจำนวนผู้อยู่อาศัยกว่า 250,000 คน มีผู้ได้รับสถานะพลเมืองเพียง 30,000 คน และมีเพียง 5,000 คนเท่านั้นที่มักปรากฏตัวในสมัชชาประชาชน เจ้าพนักงานและผู้พิพากษาของรัฐบาลจำนวนมากเป็นการกำหนดเลือก มีเพียงเหล่าแม่ทัพและเจ้าพนักงานเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากการเลือกตั้ง

อ้างว่าเกาะอาร์วัด (ปัจจุบันคือ ประเทศซีเรีย) ซึ่งชาวฟินิเซียก่อตั้งขึ้นเมื่อสหัสวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เป็นตัวอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่พบในโลก ซึ่งที่นั่น ประชาชนถืออำนาจอธิปไตยของตน และอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าเป็นไปได้ คือ ประชาธิปไตยยุคเริ่มแรกอาจมาจากนครรัฐสุเมเรียน ฝ่ายเวสาลี ซึ่งปัจจุบันคือรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นรัฐบาลแรก ๆ ของโลกที่มีองค์ประกอบอันพิจารณาได้ว่ามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นแห่งแรกของโลก (แต่มีบางคนโต้แย้งว่าการปกครองของเวสาลีนั้นไม่เป็นราชาธิปไตยก็จริง แต่น่าจะมีลักษณะเป็นคณาธิปไตยมากกว่าประชาธิปไตย) และยังปรากฏว่ามีการปกครองที่คล้ายคลึงกับประชาธิปไตยหรือคณาธิปไตยเกิดขึ้นชั่วคราวโดยชาวเมเดส ช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล แต่ถึงคราวสิ้นสุดเมื่อถึงรัชกาลพระเจ้าดาไรอัสมหาราช แห่งราชวงศ์อาร์เคเมนิด ผู้ประกาศว่า ระบอบราชาธิปไตยที่ดีนั้นย่อมเหนือกว่าระบอบคณาธิปไตยและระบอบประชาธิปไตยทุกรูปแบบ

นอกจากนั้น ยังมีการอ้างถึงสถาบันทางประชาธิปไตยในยุคเริ่มแรกโดยถือว่าเป็น “สาธารณรัฐ” อิสระในประเทศอินเดีย อย่างเช่น พระสงฆ์ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล จนถึงคริสต์ศวรรษที่ 4 แต่หลักฐานที่พบนั้นเลื่อนลอยและไม่สามารถหาแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้แน่ชัด นอกจากนั้น ไดโอโดรุส ปราชญ์ชาวกรีกในรัชกาลพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กล่าวถึงรัฐอิสระซึ่งปกครองระบอบประชาธิปไตยในอินเดีย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม นักวิชาการสมัยใหม่กล่าวว่า คำว่า ประชาธิปไตย ในสมัยศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลถูกลดความน่าเชื่อถือ และอาจหมายถึงรัฐอิสระซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองของประชาชนเลยแม้แต่น้อย

แม้ในยุคสาธารณรัฐโรมัน จะมีการสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่น ออกกฎหมาย ทว่าก็มิได้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ชาวโรมันเลือกผู้แทนตนเข้าสู่สภาก็จริงแต่ไม่รวมถึงสตรี ทาสและคนต่างด้าวจำนวนมหาศาล และยังมอบน้ำหนักให้กับเหล่าเศรษฐีและเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งการเป็นสมาชิกวุฒิสภามักมาจากครอบครัวที่มีชื่อเสียงและร่ำรวยจำนวนน้อยเท่านั้น

ยุคกลาง

ในยุคกลางมีหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือสมัชชา แม้ว่าบ่อยครั้งจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเพียงส่วนน้อย อย่างเช่น เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ในนครรัฐเวนิซ ช่วงอิตาลียุคกลาง รัฐในไทรอลเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ รวมไปถึงนครพ่อค้าอิสระซะไกในญี่ปุ่นสมัยคริสตศตวรรษที่ 16 เนื่องจากการปกครองรูปแบบตา่ง ๆ ที่กล่าวมานั้นประชาชนมีส่วนร่วมเพียงส่วนน้อย จึงมักถูกจัดเป็นคณาธิปไตยมากกว่า และดินแดนทวีปยุโรปสมัยนั้นยังปกครองภายใต้นักบวชและขุนนางในยุคเจ้าขุนมูลนายเป็นส่วนมาก

รูปแบบการปกครองซึ่งใกล้เคียงกับลักษณะประชาธิปไตยสมัยใหม่ยิ่งขึ้นไปอีก คือ ระบบของกลุ่มสาธารณรัฐคอสแซ็คในยูเครนระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 คอสแซ็คเฮ็ตมันนาเตและซาโปริเซียน ซิค โดยเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากตำบลต่าง ๆ ของเคาสตีเลือกตำแหน่งสูงสุด ซึ่งเรียกว่า “เฮ็ตมัน” (Hetman) แต่ด้วยความที่กลุ่มสาธารณรัฐคอสแซ็คเป็นรัฐทหารเต็มตัว สิทธิของผู้ร่วมในการเลือก “เฮ็ตมัน”จึงมักจำกัดอยู่แต่ผู้รับราชการในกองทหารคอสแซ็คเท่านั้น และต่อมายิ่งจำกัดเป็นเฉพาะนายทหารระดับสูง

ฝ่ายรัฐสภาอังกฤษมีรากฐานการจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มาจากมหากฎบัตร รัฐสภาซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งครั้งแรก คือ รัฐสภาของเดอมงฟอร์ต ใน ค.ศ. 1265 แต่อันที่จริง มีเพียงประชาชนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่แสดงความคิดเห็น โดยรัฐสภาได้รับการคัดเลือกจากประชาชนคิดเป็นน้อยกว่า 3% ใน ค.ศ. 1780 และยังเกิดปัญหากับรูแบบการปกครองดังกล่าว ที่เรียกว่า “เขตเลือกตั้งเน่า” (rotten boroughs) โดยอำนาจการจัดตั้งรัฐสภานั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอพระทัยของพระมหากษัตริย์ หลังจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ใน ค.ศ. 1688 และการบังคมใช้พระราชบัญญัติสิทธิ ใน ค.ศ. 1689 ซึ่งประมวลหลักสิทธิและเพิ่มพูนอิทธิพลของรัฐสภา แล้วสิทธิการเลือกสมาชิกรัฐสภาก็เพิ่มขึ้นทีละน้อย จนพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเพียงประมุขแต่ในนาม

รูปแบบประชาธิปไตยยังปรากฏในระบบชนเผ่า เช่น สหพันธ์ไอระควอย (Iroquois Confederacy) อย่างไรก็ตาม เฉพาะสมาชิกเพศชายของชนเผ่าที่ขึ้นเป็นผู้นำได้ และบ้างยังถูกยกเว้นอีก มีเพียงสตรีที่อาวุโสที่สุดในชนเผ่าเดียวกันเท่านั้นที่สามารถเลือกและถอดถอนหัวหน้าชนเผ่าได้ซึ่งเป็นการกีดกันประชากรจำนวนมาก รายละเอียดที่น่าสนใจกล่าวว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งใช้ความคิดเห็นเอกฉันท์ของเหล่าผู้นำ มิใช่การสนับสนุนของเสียงส่วนใหญ่จากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกชนเผ่า

ในสังคมระดับกลุ่ม อย่างเช่น บุชแมน ซึ่งแต่ละกลุ่มมักประกอบด้วย 20-50 คน ไม่ค่อยมีหัวหน้าเท่าใดนักและการตัดสินใจต่าง ๆ อาศัยความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่มากกว่า ในเมลานีเซีย เดิมชุมชนหมู่บ้านกสิกรรมมีความเท่าเทียมกัน และมีการปกครองแบบเอกาธิปไตยที่แข็งแรงจำนวนน้อยแม้อาจมีคนใดคนหนึ่งมีอิทธิพลเหนือกว่าผู้อื่นซึ่งอิทธิพลดังกล่าวมีผลต่อการแสดงทักษะความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่อง และความประสงค์ของชุมชนทุกคนถูกคาดหวังให้แบ่งปันหน้าที่ในชุมชน และให้สิทธิร่วมการตัดสินใจของชุมชน อย่างไรก็ตาม แรกกดดันอย่างหนักของสังคมกระตุ้นให้เกิดความลงรอยกันและลดการตัดสินใจเพียงลำพัง

คริสต์ศตวรรษที่ 18-19

117688930

แม้ไม่มีคำจำกัดความของคำว่า ประชาธิปไตย แต่เหล่าผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดรากฐานแนวปฏิบัติของอเมริกาเกี่ยวกับอิสรภาพตามธรรมชาติและความเท่าเทียม รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 1788 กำหนดให้มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ที่แรกครอบคลุมเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในยุคอาณานิคมก่อนหน้า ค.ศ. 1776 และบางช่วงหลังจากนั้น มีเพียงเหล่าบุรุษเจ้าของที่ดินผิวขาวที่มีสิทธิเลือกตั้ง ขณะที่ทาสผิวดำ อิสรชนผิวดำและสตรียังไม่ได้รับอนุญาตให้เลือกตั้ง ในวิทยานิพนธ์เทอร์เนอร์ ประชาธิปไตยกลายเป็นวิถีชีวิต และความเท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจและการเมื่องอย่างกว้างขวาง อยา่งไรก็ตาม ทาสเป็นสถาบันทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิบเอ็ดรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการก่อตั้งองค์การจำนวนมากเพื่อสนับสนุนให้คนผิวดำจากสหรัฐอเมริกาไปยังสถานที่อื่นซึ่งพวกเขาจะได้รับอิสรภาพและความเท่าเทียมเพิ่มขึ้น โดยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1820-1830 สมาคมการอพยพอเมริกันส่งคนผิวดำจำนวนมากไปยังไลบีเรีย

เมื่อถึงคริสต์ทศวรรษ 1840 การจำกัดทรัพย์สินทั้งหมดยุติลง และพลเมืองชายผิวขาวเกือบทุกคนสามารถเลือกตั้งได้แล้ว ซึ่งโดยเฉลี่ย มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ระดับรัฐ และระดับชาติระหว่าง 60-80% จากนั้นระบบการปกครองได้เปลี่ยนจากประชาธิปไตยแบบเจฟเฟอร์สันเป็นประชาธิปไตยแบบแจ็กสันอย่างช้า ๆ เมื่อ ค.ศ. 1860 จำนวนทาสผิวดำในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านคน และเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1860 ระหว่างการบูรณะสหรัฐอเมริกาภายหลังสงครามกลางเมืองอเมริกา ทาสชายที่ได้รับการปล่อยเป็นอิสระก็กลายเป็นพลเมืองและมีสิทธิการเลือกตั้งตามกฎหมาย แต่กว่าพวกเขาจะได้รับสิทธิอย่างมั่นคงก็ต้องรอจน ค.ศ. 1965

ใน ค.ศ. 1789 หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการประกาศใช้คำประกาศว่า ด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง และแม้มีอายุสั้น แต่บุรุษทุกคนเลือกตั้งสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1792 ก็นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปของชายในประเทศฝรั่งเศส ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1848 ห้วงหลังการปฏิบัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1848

ประชาธิปไตยเสรียังมีอายุสั้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และหลายประเทศมักอ้างว่าตนให้สิทธิการเลือกตั้งแก่พลเมืองทั้งหมดแล้ว ในอาณานิคมออสเตรเลียเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ขณะที่เซาท์ออสเตรเลียเป็นรัฐบาลแห่งแรกของโลกที่ให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแก่สตรีในปี ค.ศ. 1861 ส่วนในประเทศนิวซีแลนด์ ได้ให้สิทธิการเลือกตั้งแก่ชาวมาวรีพื้นเมืองใน ค.ศ. 1867 ชายผิวขาวใน ค.ศ. 1876 และผู้หญิงใน ค.ศ. 1893 ซึ่งนับเป็นประเทศแรกที่ให้สิทธิอออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปกับพลเมืองทั้งหมด แม้สตรียังไม่ได้รับอนุญาตให้สม้ครรับเลือกตั้งจน ค.ศ. 1919

คริสต์ศตวรรษที่ 20

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย จำนวนมาก จนทำให้เกิด “กระแสประชาธิปไตย” ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ของโลก มักเป็นผลจากสงคราม การปฏิวัติ การปลดปล่อยอาณานิคม และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและศาสนา

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติ และจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและจักรวรรดิออตโตมันล่มสลาย ทำให้เกิดรัฐชาติจำนวนมากในทวีปยุโรปซึ่งส่วนใหญ่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ระบอบประชาธิปไตยเจริญขึ้น แต่ผลของภาวะเศรษฐฏิจตกต่ำครั้งใหญ่ทำให้ความเจริญดังกล่าวหยุดชะงัก และประเทศแถบทวีปยุโรป ละตินอเมริกา และทวีปเอเชียเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นเผด็จการมากขึ้น ทำให้เกิดฟาสซิสต์ ในนาซีเยอรมัน อิตาลี สเปนและโปรตุเกส รวมไปถึงรัฐเผด็จการในแถบคาบสมุทรบอลติก คาบสมุทรบอลข่าน บราซิล คิวบา สาธารณรัฐจีนและญี่ปุ่น เป็นต้น

ทว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ทำให้เกิดผลกระทบในด้านตรงกันข้ามในยุโรปตะวันตก ความสำเร็จของการสร้างระบอบประชาธิปไตยในเขตยึดครองเยอรมนีของสหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝรั่งเศส ออสเตรีย อิตาลี และญี่ปุ่นสมัยยึดครอง ซึ่งได้เป็นต้นแบบของทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก รวมถึงเขตยึดครองของโซเวียดในเยอรมนี ซึ่งถูกบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ตามกลุ่มตะวันออก หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดยังส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยอาณานิคม และประเทศเอกราชใหม่ส่วนใหญ่สนับสนุนให้ปกครองระบอบประชาธิปไตย และอินเดียกลายเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก และดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ในช่วงหนึ่งทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาติตะวันตกที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยส่วนใหญ่มีระบบเศรษฐกิจแบบผสม และดำเนินการตามรูแบบรัฐสวัสดิการ สะท้อนให้เห็นถึงความสอดคล้องกันระหว่างราษฎรกับพรรคการเมือง ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 เศรษฐกิจทั้งในกลุ่มประเทศตะวันตกและกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ต่อมาเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลลดลง เมื่อถึง ค.ศ. 1960 รัฐชาติส่วนใหญ่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้ประชากรส่วนใหญ่ของโลกยังมีการจัดการเลือกตั้งแบบตบตา และการปกครองในรูปแบบอื่น ๆ อยู่

กระแสการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของรูปแบบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยในหลายรัฐชาติ เริ่มจากสเปน โปรตุเกส ใน ค.ศ. 1974 รวมไปถึงอีกหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เมื่อถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 และต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงจากระบอบเผด็จการทหารเป็นรัฐบาลพลเรือน ตามด้วยประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ระหว่างต้นถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 และเนื่องจากความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต รวมไปถึงความขัดแย้งภายใน ทำให้สหภาพโซเวียดล่มสลาย และนำไปสู่จุดสิ้นสุดของสงครามเย็น ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองภายในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกในกลุ่มตะวันออกเดิม

นอกเหนือจากนั้น กระแสระบอบประชาธิปไตยได้แพร่ไปถึงทวีปแอฟริกาบางส่วน ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกาใต้ ความพยายามบางประการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองยังพบเห็นอยู่ในอินโดนีเซีย ยูโกสลาเวีย จอร์เจีย ยูเครน เลบานอนและคีร์กีซสถาน

จนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกมีประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยจำนวน 123 ประเทศ (ค.ศ. 2007) และกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมีการคาดเดากันว่า กระแสดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยจะกลายเป็นมาตรฐานสากลสำหรับสังคมมนุษยชาติ สมมุติฐานดังกล่าวเป็นหัวใจหลักของทฤษฎี “จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” โดยฟรานซิส ฟุกุยะมะ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์บรรดาผู้ที่เกรงกลัวจะมีวิวัฒนาการของประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิของเสียงข้างมากไปยังยุคหลังประชาธิปไตย และผู้ที่ใช้ให้เห็นประชาธิปไตยเสรี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี เกี่ยวกับประชาธิปไตย (สืบค้นเมื่อ 20/9/2559)